ประวัติความเป็นมา

10 พฤษภาคม 2567 (ผู้ดูแลระบบ) เกี่ยวกับหน่วยงาน

          ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เดิมก่อตั้งเป็น "สถาบันราชภัฏยะลา วิทยาเขตแม่ลาน" ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2538  ณ พื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านนางโอ ตำบลแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ในสมัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชิต หลักทรัพย์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏยะลา (Yala Rajabhat Institute) ในขณะน้ัน มีวิสัยทัศน์และดำริที่จะจัดหาพื้นที่สาธารณะเพื่อขยายศูนย์การศึกษาสำหรับโครงการการศึกษาสำหรับบุคลากรประจำการ (กศ.บป.) ซึ่งขยายสาขาวิชาเพื่อเปิดสอนในระดับปริญญาตรีในขณะนั้น โดยเฉพาะสาขาด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการเกษตร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการขอใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ ที่สงวนเลี้ยงสัตว์โคกหลาสาธารณะประโยชน์ แปลงที่ 6  ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 627-0-88.5 ไร่ มาพัฒนาเป็นพื้นที่ใช้สอยของ สถาบันราชภัฏยะลา วิทยาเขตแม่ลาน ประมาณ 201 ไร่ ขอจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ เรียกชื่อในขณะนั้นว่า "วิทยาเขตแม่ลาน"  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์พิทักษ์ พหุลรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการวิทยาเขตแม่ลาน เป็นคนแรก และได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่รองรับการจัดการเรียนการสอนภาค กศ.บป. เป็นหลัก
          การดำเนินการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาภาค กศ.บป. (เรียนวันเสาร์-อาทิตย์)  ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาอย่างต่อเนื่อง ต้ังแต่ปี พ.ศ. 2538-2546 หลากหลายสาขา ตามความต้องการกำลังคนของประเทศในขณะนั้น อาทิเช่น .....  จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2547 คณะผู้บริหารสถาบันราชภัฏยะลาในขณะนั้น จึงมีนโยบายงดจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ณ พื้นที่วิทยาเขตแม่ลาน เนื่องจากกังวลในความไม่ปลอดภัยของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร จึงทำให้พื้นที่ อาคาร ครุภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ ของวิทยาเขตแม่ลานเสื่อมโทรม ชำรุดและเสียหาย ไปตามสภาพและตามระยะเวลาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ 
          ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งดำรงตำแหน่งในวาระแรก (พ.ศ. 2556-2560) ขณะนั้น มีดำริและนโยบายที่จะทำการฟื้นฟูพื้นที่วิทยาเขตแม่ลาน และใช้พื้นที่วิทยาเขตแม่ลาน จัดตั้งเป็นโครงการสำคัญทางยุทธศาสตร์ (Flagship Project) ตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเพื่อการยกระดับสู่ความเป็นเลิศ ระยะ 10 ปี (2560-2569)  ซึ่งได้กำหนดกลุ่มสาขาวิชา (Cluster) โดดเด่น เพื่อมุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การปรับเปลี่ยนและการพลิกโฉม ได้แก่ 1) ด้านการผลิตและพัฒนาครู 2) ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร 3) ด้านภาษา ศาสนา ปรัชญา ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี นาฏศิลป์ การแสดง บันเทิงและสื่อสารมวลชน  และ 4) ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยจัดให้มีโครงการสำคัญทางยุทธศาสตร์ (Flagship) สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูและยกระดับความสำคัญการใช้พื้นที่วิทยาเขตแม่ลาน ได้แก่ โครงการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและวิจัยความเป็นเลิศด้านเกษตรทันสมัยและอาหารฮาลาล ณ วิทยาเขตแม่ลาน (ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน)  
          จากนั้นเป็นต้นมา "ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" จึงเป็นพื้นที่การพัฒนาโครงการสำคัญ (Flagship) ด้านการเกษตรทันสมัยและอาหารฮาลาล เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารฮาลาล โดยดำเนินกิจกรรมผ่านโครงการสำคัญ (Flagship) ทางยุทธศาสตร์ คือ "โครงการศูนย์ศึกษาและวิจัยความเป็นเลิศด้านการเกษตรทันสมัยและอาหารฮาลาล" โดยได้รับงบประมาณรายได้ในงบยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในกลุ่มวิชา "ด้านการเกษตรทันสมัยและอาหารฮาลาล"  ซึ่งเป็นจุดเน้นของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่นชายแดนใต้ โดยการจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์เพื่อทำการปรับปรุง ฟื้นฟู ศูนย์การเรียนรู้แม่ลานให้มีความพร้อมสำหรับรองรับการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาด้านเการเกษตร พร้อมจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน จัดหาอุปกรณ์ ครุภัณฑ์การเรียนการสอน สนับสนุนการพัฒนาเป็นฐานการเรียนรู้รองรับการบริการวิชาการและการเรียนการสอน 
          ปัจจุบัน ในปีการศึกษา 2565 ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้มีการจัดการเรียนการสอนใน 3 หลักสูตรหลัก คือ ได้แก่  1) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ 2) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาสัตวศาตร์และธุรกิจปศุสัตว์ และ 3) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงานทดแทน  นอกจากนั้น ยังจัดให้เป็นฐานการเรียนการรู้ ฐานการวิจัย และฐานการให้บริการทางวิชาการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งสามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติได้ ปัจจุบันมีฐานการเรียนรู้จำนวนทั้งหมด 8 ฐาน ดังนี้

ฐานการผลิตพืช จำนวน 4 ฐาน ได้แก่

1. ฐานการจัดการดินปุ๋ยและธาตุอาหารพืช

2. ฐานการผลิตเห็ด

3. ฐานอุทยานการเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ

4. ฐานการผลิตไม้ผล

5. ฐานแปลงทดสอบกล้วยหินเพื่อแก้ไขปัญหาโรคเหี่ยวกล้วย

ฐานการผลิตสัตว์ แบ่งออกเป็น 4 ฐาน ได้แก่

1. ฐานการผลิตโคเนื้อ - โคนม

2. ฐานการผลิตสัตว์ปีก

3. ฐานการผลิตแพะ - แกะ

4. ฐานการผลิตผึ้งชันโรง

          ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2561 บริเวณลานด้านหน้าศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (ดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2) ให้เกียรติร่วมพิธีเปิดป้ายศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน SMART FARM ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตรและอาหารสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี โดยมี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดป้าย "ศูนย์การเรียนรู้แม่ลาน SMART FARM ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการเกษตรและอาหารสมัยใหม่" โดยมี คณะผู้บริหารจังหวัดปัตตานี นายสมมาตร บารา นายอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยประชาชน คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาสาขาสัตวศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ สำหรับพิธีเปิดป้ายศูนย์การเรียนรู้แม่ลานมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ผลการดำเนินงานฐานการเรียนรู้ จำนวน 8 ฐาน ให้เป็นที่รู้จักแก่ชุมชนและบุคคลทั่วไป โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มุ่งเน้นในการบริหารจัดการและการพัฒนาโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมุ่งหวังให้เกิดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ในด้านการเกษตรศาสตร์ สัตวศาสตร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปในอนาคต

ผู้ปรับปรุงข้อมูล: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี